พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ร่วมสร้างรอยยิ้มและการเรียนรู้ในเทศกาลโคราชเดิ่นยิ้มเบิกบาน 2024
.
พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา โดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ใน เทศกาลโคราชเดิ่นยิ้มเบิกบาน "ปิดเทอมสร้างสรรค์ เล่นบันดาลใจ 2024" เปิดพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์ 32 อำเภอ เสริมการเรียนรู้ เพิ่มทักษะชีวิต สร้างความสุข เพื่อเด็กเยาวชนและทุกคน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2567 ณ ลาน KORAT HALL 1 ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราช
.
กิจกรรมที่เต็มไปด้วยความสนุกและสาระ: อาทิ นิทรรศการ: นำเสนอเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับเมืองนครราชสีมาผ่านการเล่น กิจกรรม DIY สร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเอง โดยเป้าหมายเพื่อจะมอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่สนุกสนาน กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้เด็กๆ เรียนรู้เกี่ยวกับเมืองนครราชสีมผ่านการเล่น ซึ่งผลตอบรับเด็กๆ และผู้ปกครองให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก บรรยากาศเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความสนุกสนาน
.
โดยนายชุตินันท์ ทองคำ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาแหล่งเรียนรู้ฯ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการเสวนาในประเด็น “การสร้างพื้นที่สร้างสรรค์” ร่วมกับคณะผู้บริหารของแหล่งเรียนรู้ในจังหวัดนครรราชสีมา โดยกล่าวว่า การสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในโรงเรียน พิพิธภัณฑ์ หรือหอศิลป์เท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา สิ่งสำคัญคือ โอกาส ที่เด็กๆ จะได้เข้าถึงพื้นที่เหล่านี้ โดยมองว่าในปัจจุบัน "เวลา" เป็นเรื่องสำคัญ? เวลาของเด็กควรใช้กับการเรียนรู้ ผู้ปกครองมีเวลาน้อยลงเพราะภารกิจการทำงาน ดังนั้นแนวทางการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ สร้างได้ทุกที่: สวนสาธารณะ ห้องสมุด ร้านกาแฟ บ้าน ฯลฯ สร้างตามบริบท: รูปแบบและกิจกรรมขึ้นอยู่กับทรัพยากร สร้างจุดเชื่อมโยง: พื้นที่สร้างสรรค์เป็นจุดเชื่อมระหว่างเด็กและครอบครัว ซึ่งจะส่งผลให้เกิด ผลลัพธ์: คือ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาศักยภาพ สร้างมิตรภาพ สานสัมพันธ์ครอบครัว ร่วมกันสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ เพื่ออนาคตของเด็กๆ โดยมีสิ่งสำคัญคือ การมี ความตั้งใจ และ ความร่วมมือ ร่วมกันสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาศักยภาพ และสร้างสังคมที่ดี
.
ความภาคภูมิใจ:พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมารู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ และสร้างรอยยิ้มให้กับเด็กๆ
.

สำนักศิลปะฯ ม.ราชภัฏนครราชสีมา ยินดี! ดร.ชุมพล ชะนะมา คว้ารางวัลพชรกุญชร ด้านศิลปะการแสดง
.
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ขอแสดงความยินดีกับ ดร.ชุมพล ชะนะมา รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ในโอกาสที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ “รางวัลพชรกุญชร” ผู้สร้างคุณประโยชน์ทางวัฒนธรรมด้านศิลปะ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
.
"รางวัลพชรกุญชร" เป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ได้มอบให้แก่บุคคลผู้สร้างผลงานดีเด่นและอุทิศตนเพื่อการส่งเสริมงานวัฒนธรรมด้านต่างๆ โดยเฉพาะ ดร.ชุมพล ชนะมา ได้รับรางวัลในสาขาศิลปะการแสดง จากผลงานอันโดดเด่นและความทุ่มเทในเชิงสร้างสรรค์ พัฒนา และส่งเสริมศิลปะการแสดงมาอย่างยาวนาน
.
โดยจะเข้ารับรางวัลในงานอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ ในวันศุกร์ที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๗ ณ อาคาร ๒๗ ชั้น ๒ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

  
 

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม

มอบป้ายยกย่องชุมชนบ้านปรางค์ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา เป็น "มรดกระดับจังหวัดนครราชสีมา"

.

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในฐานะหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา มอบป้ายยกย่องชุมชนบ้านปรางค์ อำเภอคง เป็นมรดกระดับจังหวัดนครราชสีมา

.

“ชุมชนบ้านปรางค์” อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา ได้รับการยกย่องจากจังหวัดนครราชสีมาให้เป็น “มรดกจังหวัดนครราชสีมา” แห่งที่ 2 ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา โดยพิจารณาจากองค์ประกอบหลายประเด็นได้แก่ การมีแหล่งทางประวัติศาสตร์สำคัญ คือ “ปราสาทบ้านปรางค์” ที่เป็นศาสนสถานสำคัญในวัฒนธรรมเขมรโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ จึงเป็นหัวใจสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้คนเดินทางมาสักการะและท่องเที่ยวในชุมชน ลองลิ้มชิมรสอาหารท้องถิ่น สัมผัสกลิ่นไอทางประวัติศาสตร์นับพันปี ชื่นชมบารายหรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถเดินข้ามสะพานที่สร้างจากความร่วมแรงร่วมใจภายในชุมชน และอีกแรงดึงดูดหนึ่งที่เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจร่วมกันในชุมชนโดยมีคุณประวิตร ชุมสุข ผู้หลงใหลและสัมผัสถึงเสน่ห์ของชุมชนจึงมุ่งมั่นจะพัฒนาท้องถิ่นให้มีความงาม การอนุรักษ์ และเกิดรายได้ไปควบคู่กัน จึงได้อาสาในการเป็นประธานวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวชุมชนบ้านปรางค์ ขับเคลื่อนการพัฒนาหลากหลายด้านโดยเฉพาะการสร้างการรับรู้ในคุณค่าของสถาปัตยกรรมที่ปรากฏในเรือนพักอาศัยที่มีอายุอานามไม่น้อยในชุมชนบ้านปรางค์ นับเป็นความภาคภูมิใจในความละเมียดละไมของภูมิปัญญางานช่างฝีมือดั้งเดิมและเทคนิคทางสถาปัตยกรรมที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของบรรพบุรุษที่ได้สร้างไว้
.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เรขา อินทรกำแหง ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีความมุ่งหวังที่จะส่งเสริมคุณค่าที่ปรากฏอย่างชัดเจนร่วมกับการเห็นถึงความพยายามอย่างมากของชุมชนในการร่วมกันอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ยังคงหลงเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือนในลักษณะเรือนโคราช ในฐานะอัตลักษณ์ที่สำคัญที่จะต้องช่วยกันรักษาไว้ร่วมกับมรดกทางวัฒนธรรมประเพณี จึงได้มอบหมายให้หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา และสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาทำการศึกษาสำรวจและรวบรวมข้อมูลของลักษณะสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีของชุมชน โดยคุณสมฤทัย ปิยรัตน์ คุณพรมงคล นาคดี และคุณสุรชัย เดชชัยพิทักษ์ จัดเก็บข้อมูลเพื่อนำองค์ความรู้มาสร้างเป็นสื่อการเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชน และสร้างการรับรู้ในวงกว้าง รวมถึงจัดทำข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมประจำจังหวัดนครราชสีมาในการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๖ เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ณ ห้องประชุมท้าวสุรนารี ชั้น ๑ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยได้รับเกียรติจากนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมประจำจังหวัดนครราชสีมาและผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีมติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ประกาศยกย่องให้ “ชุมชนบ้านปรางค์ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา” เป็นมรดกระดับจังหวัดนครราชสีมา โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายสยาม ศิริมงคล ลงนาม เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๖ นับเป็นชุมชนต้นแบบในการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดสร้างรายได้ และเป็นกลไกในการพัฒนาท้องถิ่นบนฐานของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมควบคู่กันไป เพื่อร่วมกันดูแลรักษามรดกจังหวัด เพื่อเป็นสมบัติของชาติสืบไป
.
และในโอกาสโอกาสที่ชุมชนบ้านปรางค์ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับหน่วยงานภาคราชการและภาคเอกชน ร่วมกันจัดงาน "ทิวาราตรีเสมอภาค" ในระหว่างวันที่ 19-21 มีนาคม 2567 จึงได้เรียนเชิญนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มอบป้าย “การยกย่องชุมชนบ้านปรางค์ เป็นมรดกระดับจังหวัดนครราชสีมา” เพื่อเป็นเกียรติแก่ชุมชน ท่ามกลางบรรยากาศสุดคึกคักของงานทิวาราตรีเสมอภาค สะท้อนความภาคภูมิใจของชาวชุมชน และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันอนุรักษ์และสืบสานมรดกอันล้ำค่าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
.
ภาพ โดย คุณสุรชัย เดชชชัยพิทักษ์
 
 
 
"สัมมนาออนไลน์ " แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การดำเนินงานขับเคลื่อนโคราชจีโอพาร์คสู่
“จีโอพาร์คโลก” เมืองมรดกโลก 3 แห่งแรกของโลก!
.
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดการเสวนาออนไลน์ "กว่าจะเป็นโคราชจีโอพาร์คโลก" ในวัน พฤ. เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 เวลา 13.30 - 17.00 น. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมจัดการความรู้และนวัตกรรม (KM for ONEP) เพื่อมุ่งเน้นแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การดำเนินงานขับเคลื่อนโคราชจีโอพาร์คสู่การได้รับการรับรองในระดับโลก ซึ่งทำให้จังหวัดนครราชสีมามีแหล่งมรดกโลกมากถึง 3 แหล่งในจังหวัดเดียวกัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นประเทศที่ 3 ของโลก โดยการเสวนาได้เชิญผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการโคราชจีโอพาร์คโลก, ผศ.เรขา อินทรกำแหง ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, ผศ.ดร.จรูญ ด้วงกระยอม รองผู้อำนวยการโคราชจีโอพาร์คโลก และดำเนินรายการโดย นางสาวสุวรรณา จันทรไพฑูรย์
.
โดยผศ.เรขา อินทรกำแหง ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ร่วมเสวนาในประเด็น “ คุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของโคราชจีโอพาร์คโลก” ซึ่งกล่าวถึง ความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรม: มรดกทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป โดยเชื่อมโยงระหว่างมรดกทางวัฒนธรรมหลายแห่งในโคราชจีโอพาร์ค กับมรดกทางธรรมชาติวิทยา รวมทั้งมรดกทางธรณีวิทยา ตัวอย่างเช่น ศาสนสถานโบราณ ประเพณี และงานหัตถกรรม โดยมีความเกี่ยวข้อต่อเนื่องกับความร่วมมือของชุมชน โดยชุมชนนั้นมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม จำเป็นต้องมีการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งทำให้เกิดการส่งเสริมการท่อง และสร้างการแรงกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างการหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมสามารถเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น และสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป
.

 
 
 
 
 
ชวนเที่ยวงาน "ทิวาราตรีเสมอภาค" ณ ชุมชนบ้านปรางค์ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา
ระหว่างวันที่ 19-21 มีนาคม 2567 
 
..
ชุมชนบ้านปรางค์ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับหน่วยงานภาคราชการและภาคเอกชน ร่วมกันจัดงาน "ทิวาราตรีเสมอภาค" ในระหว่างวันที่ 19-21 มีนาคม 2567 เวลา 18.00 น เป็นต้น ณ ปราสาทบ้านปรางค์และบริเวณชุมชนบ้านปรางค์อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ชูศักยภาพในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งทางศิลปวัฒนธรรม โดยมีปราสาทบ้านปรางค์ เรือนโคราชโบราณอายุกว่าร้อยปี ผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่นำเสนอเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านปรางค์ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา
.
งานทิวาราตรีเสมอภาคนี้ ไฮไลด์ คือ นักท่องเที่ยวจะได้ชมความมหัศจรรย์ ปรากฏการณ์ทิวาราตรีเสมอภาค หรือปรากฏการณ์ แสงอาทิตย์และแสงจันทร์ ตั้งฉากกึ่งกลาง ณ ปราสาทบ้านปรางค์ ในวันที่ 20 มีนาคม 2567 หรือวันวสันตวิษุวัต (อ่านว่า วะ-สัน-ต-วิ-สุ-วัด) เวลากลางวันยาวเท่ากับกลางคืน และสุดพิเศษ ในเวลา 06.00 น. พระอาทิตย์จะส่องตรงประตูปราสาทบ้านปรางค์พอดี
.
นอกจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หาชมได้ยากแล้ว ภายในงานยังได้มีการแสดงมินิไลท์ แอนด์ ซาวด์แสง สี เสียง ตรีมูรติเทวสถาน ย้อนรอยประวัติศาสตร์ บ้านปรางค์ ชมการแสดงดนตรีจากวงเพลินและการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมจากน้องๆ นักเรียนในพื้นที่อำภอคงพร้อมไปกับการกินเข่าค่ำอาหารพื้นถิ่นบ้านปรางค์ ได้แก่ ทอดมันบ้านปรางค์ ขาหมูต้มถั่วดำ รวมทั้ง เดินชม ช็อป ชิมอาหารท้องถิ่น Street Food ตามแบบวิถีชุมชนรักษ์โลก การจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม และเยี่ยมชมชุมชน ด้วยรถรีมูซีนปรางค์นคร หรือปั่นจักรยานชมบรรยากาศชุมชน ชมหย่อมเรือนโคราช อายุมากกว่า 100 ปี ที่มีมากถึง 27 หลัง ที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม จากสมาคมสถาปนิคสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกของจังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น
.
มาร่วมสนุกไปกับงาน 'ทิวาราตรีเสมอภาค' ณ บ้านปรางค์ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา และสร้างความทรงจำที่ลืมไม่ได้กับครอบครัวและเพื่อนๆ ของคุณในวันสุดพิเศษนี้!"
.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณประวิตร ชุมสุข โทร 089 71881820