สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

.
ขอแสดงความยินดีกับ ดร.ชุมพล ชะนะมา รองผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและเครือข่ายสัมพันธ์
ในโอกาสที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งมงกุฎไทย "ตริตาภรณ์มงกุฏไทย" ประจำปี 2567

 

 

โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ “สืบศาสตร์สานศิลป์ มรดกภูมิปัญญาปราชญ์แผ่นดิน ศิลปินแห่งชาติ”
.
ใครยังไม่กรอกใบสมัครต้องรีบหน่อยนะครับ ⏩⏩⏩
**************************************
ขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ
“สอนศิลป์ ถิ่นกวี ขับกล่อมดนตรีพื้นบ้าน ร่วมสานงานศิลปวัฒนธรรม เมืองโคราช” #อบรมฟรี 14 หลักสูตร กับ 17 ศิลปินแห่งชาติ เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ร่วมกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ฟรี!
.
ระหว่างวันที่ 3-4 กันยายน 2567 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

 

หลากหลายบทบาทสำนักศิลปะฯ ราชภัฏนครราชสีมา
ในการร่วมนำเสนออัตลักษณ์โคราช ครม.สัญจรโคราช 2 กรกฎาคม 2567
.
สัมผัสกลิ่นอายโคราช ผ่านศิลปวัฒนธรรม ในงานประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ครม.สัญจร" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ณ หอประชุมราชภัฏรังสฤษฏ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
.
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในฐานะเจ้าบ้าน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสานต่ออัตลักษณ์ของโคราช ผ่านศิลปวัฒนธรรมอันงดงาม เริ่มตั้งแต่ช่วงเตรียมงานจนถึงวันงาน โดยนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ มากมาย โดยหลากหลายบทบาทที่สำนักศิลปะและวัฒนธรรมได้เข้าไปมีส่วนร่วมขับเคลื่อนงาน ครม.สัญจร ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยมีรายละเอียดโดยสังเขป ดังนี้
.
1. ผศ.เรขา อินทรกำแหง ผู้อำนวยการ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ร่วมกับหน่วยงานราชการและกลุ่มเอกชนที่เกี่ยวเนื่องกับการการผลิตผ้า เพื่อร่วมกันออกแบบชุดสำหรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดนครราชสีมา
.
2. ดร. ชุมพล ชะนะมา รองผู้อำนวยการ ร่วมกับสาขาวิชานาฏศิลป์ไทย ได้ทำหน้าที่ออกแบบและบริการชุดสำหรับนักศึกษาทำหน้าที่บริการอาหารคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนักศึกษาในสาขาการจัดการโรงแรมและนวัตกรรมการบริการ และสาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวการจัดประชุมและนิทรรศการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
.
3. ผศ.ดร.สืบศักดิ์ สิริมงคลกาล รองผู้อำนวยการ ร่วมกับสาขาวิชาศิลปศึกษา ดำเนินการจัดแสดง Mini Exhibition ผลงานเครื่องปั้นดินเผาอันทรงคุณค่าจากคุณเดช นานกลาง ศิลปินมรดกอีสาน สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) และนายเมี้ยน สิงห์ทะเล จากหมู่บ้านด่านเกวียน พร้อมทั้งผลงานของคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
.
4. สำนักศิลปะฯ ร่วมกับ พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินฯ จัดนิทรรศการนำเสนอมุมมองทางวัฒนธรรมในโคราชจีโอพาร์ค เพื่อสะท้อนความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมของเมืองนครราชสีมา โดยนำเครื่องปั้นดินเผาร่วมสมัย ผลงานของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบศักดิ์ สิริมงคลกาล รองผู้อำนวยการ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม และ ตุ๊กตาดินเผาด่านเกวียนจากอัตลักษณ์เพลงโคราช โดยคณาจารย์คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และผังเมืองปั้นดินเผา ผลงานของครูหนืด นิมิตร พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง
.
5. ผศ.เรขา อินทรกำแหง ผู้อำนวยการ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม และในฐานะหัวหน้าหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา ร่วมต้อนรับนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และคณะทำงาน ในโอกาสตรวจเยี่ยมการพัฒนาศักยภาพแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม “แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด”ตำบลพลสงคราม อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีส่วนร่วมในการทำงานเชิงวิชาการ และเชิงพื้นที่ร่วมถึงผลักดันให้เกิดแหล่งเรียนรู้แห่งนี้ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
.
6. คุณอัครพล อินทกูล ร่วมกับศูนย์ศึกษาและพัฒนาโคราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาออกแบบภาพ 3 มิติ ผังพื้นที่นิทรรศการส่วนราชการและสถาบันการศึกษา บริเวณหน้าอาคารหอประชุมราชภัฏรังสฤษฏ์
.
7. คุณพรมงคล นาคดี ออกแบบป้ายนิทรรศการผลงานมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาในด้านการขับเคลื่อน SDGs และ THE Asia Award โดยได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลจากกองประกัน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยในช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีได้เดินชมนิทรรศการ ผศ.เรขา อินทรกำแหง ผู้อำนวยการ ได้ร่วมกับอธิการบดี นำเสนอการจัดแสดงนิทรรศการร่วมกับกองประกันคุณภาพทางการศึกษา
.
8. นายชุตินันท์ ทองคำ รองผู้อำนวยการ ทำหน้าที่ออกแบบเมนูอาหาร ประกอบการบริการอาหารคณะรัฐมนตรี
.
9. คุณขวัญเรือน ทองตาม และคุณพรมงคล นาคดี อำนวยความสะดวก ห้องพักรับรองข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรม โดยได้รับความอนุเคราะห์เป็นอย่างดีจากสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
.
10. คุณสุรชัย เดชชัยพิทักษ์ ให้บริการสื่อมวลชนท้องในในการส่งข่าวและสนับสนุนภาพถ่ายประกอบการนำเสนอข่าว
.
การมีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยในมิติของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มุ่งหวังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของจังหวัดนครราชสีมาในฐานะ "เมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม" และ "ประตูสู่อีสาน" กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสนใจเดินทางมาสัมผัสกับเสน่ห์ของโคราชมากยิ่งขึ้น
 
ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่

 

วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๗ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จัดพิธีถวายราชสดุดี
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ณ หอประชุมอนุสรณ์ ๗๐ ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
 
โดยในวันนี้ ผศ.เรขา อินทรกำแหง ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม พร้อมด้วยผู้บริหารและบุคลากรสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ร่วมพิธี ดังกล่าวเพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ร่วมกับผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ณ หอประชุมอนุสรณ์ ๗๐ ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

 

 

ขอแสดงความยินดีกับวงดนตรี "NRRU" ชนะเลิศ
 
การประกวดวงดนตรีผสมผสานประกอบการแสดงวัฒนธรรมพื้นถิ่นไทย ระดับอุดมศึกษา
 
MHESI MUSIC VARIETY AWARDS 2024 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
 
.
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2567 วง NRRU จากสาขาวิชานาฏศิลป์ไทย ร่วมกับสาขาวิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สร้างความภาคภูมิใจให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ด้วยการคว้ารางวัล "ชนะเลิศ" ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการประกวดวงดนตรีผสมผสานประกอบการแสดงวัฒนธรรมพื้นถิ่นไทย ระดับอุดมศึกษา MHESI MUSIC VARIETY AWARDS 2024 เวทีแห่งการประชันความสามารถทางดนตรี ผสานเอกลักษณ์วัฒนธรรมพื้นถิ่น อว.แฟร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : Sci Power For Future Thailand ยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ สามารถสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีด้านศิลปวิทยา จัดโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัดนครราชสีมา
.
วง NRRU เป็นการบูรณาการทั้งศาสตร์แห่งเสียงดนตรี และศาสตร์ด้านนาฏศิลป์ร่วมสมัย จากสาขาวิชานาฏศิลป์ไทย ร่วมกับสาขาวิชาดนตรี ซึ่งโชว์ฝีมือ ทักษะ และความมุ่งมั่น ในการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านบทเพลง ผสมผสานกลิ่นอายวัฒนธรรมพื้นถิ่น โคราชสะท้อนเอกลักษณ์อันงดงาม คว้าใจคณะกรรมการจนคว้ารางวัลชนะเลิศ เป็นตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าชิงชัยในระดับเทศ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
.
ขอขอบคุณภาพ จาก Facebook Live กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. คุณสุรชัย เดชชัยพิทักษ์ และ Facebook Fanpage อ.ว. แฟร์