ผู้อำนวยการสำนักศิลปะฯ ร่วมเป็นคณะกรรมการผลงานนาฏศิลป์นิพนธ์ (Thesis) ม.ราชภัฏนครราชสีมา
.
วันที่ 8 เมษายน 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์เรขา อินทรกำแหง ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ได้รับเชิญให้เป็นคณะกรรมการ โครงการการแสดงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา การแสดงนาฏศิลป์นิพนธ์ ประจำปีการศึกษา 2566 ภายใต้โครงการ “นาฏศิลป์นิพนธ์” โดยหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์ไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ณ โคราชฮอลล์ เซ็นทรัลโคราช
.
“นาฏศิลป์นิพนธ์” ของสาขาวิชานาฏศิลป์ไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นการสร้างสรรค์ผลงานนาฏศิลป์รูปแบบใหม่ ผ่านกระบวนการวิจัยและศึกษาค้นคว้าข้อมูลบริบทเชิงพื้นที่ เน้นไปที่วัฒนธรรม วิถีชีวิต และประเพณีที่แสดงถึงความเป็นอัตลักษณ์ของโคราช โดยเป้าหมายของนาฏศิลป์นิพนธ์ คือ การหาแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานนาฏศิลป์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการอนุรักษ์: รักษาและสืบสานนาฏศิลป์ดั้งเดิมของโคราช การพัฒนา: พัฒนาและปรับปรุงรูปแบบการแสดงนาฏศิลป์ให้มีความร่วมสมัย และการประยุกต์: ประยุกต์นาฏศิลป์เข้ากับสื่อรูปแบบใหม่ ๆ โดยมีสิ่งสำคัญ คือ ผลงานนาฏศิลป์นิพนธ์ต้องสะท้อนเอกลักษณ์ของชุมชนอย่างชัดเจน และสามารถนำกลับไปพัฒนาชุมชน หรือเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ได้ โดยมี ดร.ชุมพล ชะนะมา รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นวลรวี กระต่ายทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
.
โดยผลงานสร้างสรรค์การแสดงทางนาฏศิลป์ ประจำปี 2566 เป็นผลการศึกษาวิจัยและพัฒนาชุดการแสดงของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์ไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ทั้งหมด 6 ชุดการแสดง ได้แก่ 1) นวมาลา ศรีธรณี 2) ยอกรวันทา ถวยสักกา พระธาตุตะคุ 3) ถงยวนจันทึก 4) นาถอนงค์ องค์สีดา 5) ชักชาวัด 6) นามธารรี
.
นาฏศิลป์นิพนธ์ นับเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานนาฏศิลป์รูปแบบใหม่ สะท้อนเอกลักษณ์ของชุมชน และนำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน สำนักศิลปะและวัฒนธรรมขอชื่นชมผลงานของนักศึกษาและคณาจารย์ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่านี้
.
ภาพโดย คุณสุรชัย เดชชัยพิทักษ์ และภาพจาก Facebook Live โดยไก่ทอดโปรดักชั่น