Close
ข้อมูลแหล่งศิลปกรรม

Previous     35   36   37   38   39       Next

ข้อมูลของแหล่งศิลปกรรม

ภาพประกอบ

ลำดับที่ 1
รายละเอียดภาพ : ด้านหน้าของปรางค์ประธาน ปรางค์ครบุรี ตำบลครบุรีอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา

ชื่อแหล่ง

ปรางค์ครบุรี

ประเภทแหล่งเรียนรู้

แหล่งศิลปกรรม


หมู่บ้าน ครบุรีใต้ ตำบล ครบุรีอำเภอ ครบุรี จังหวัด นครราชสีมา
ชื่อโรงเรียนเปลี่ยนจาก โรงเรียนบ้านครบุรี เป็น โรงเรียนบ้านครบุรีนคร ธรรมโฆสิตวิทยาคาร

ในปัจจุบันปรางค์ครบุรี ตั้งอยู่ภายในบริเวณโรงเรียนบ้านครบุรีนครธรรมโฆสิต วิทยาคาร ตำบลครบุรีใต้ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ห่างจากตัวจังหวัดนครราชสีมาประมาณ ๕๗ กิโลเมตร ปัจจุบันตั้งอยู่ทางด้านหลังของโรงเรียน เมื่อเข้าไปถึงเขตโบราณสถานจะพบว่า ทางเข้าของปรางค์อยู่ทางด้านทิศตะวันออก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ มีการบูรณะโดยสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา กรมศิลปากร ปัจจุบันมีการดูแลรักษาจากกรมศิลปากรโดยการเข้ามาถางหญ้า แต่ก็ไม่ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพราะพบว่าภายในบริเวณโบราณสถานมีหญ้ารกและต้นไม้ขึ้นอยู่ภายในบริเวณโดยรอบ โบราณสถานก่อสร้างด้วยศิลาแลง ยกเว้นกรอบประตูและเสาประดับซึ่งทำด้วยหินทราย ชิ้นส่วนเสาประดับประตูและทับหลังที่เป็นหินทรายนั้นพบเฉพาะส่วนที่ไม่มีลวดลาย ส่วนที่แกะสลักลวดลายของเสาประดับประตูถูกเคลื่อนย้ายออกไปวางไว้ทางด้านหลังหรือทางทิศตะวันตกภายนอกกำแพงแก้ว แต่ไม่พบว่าทับหลังนั้นอยู่ที่ใด โบราณสถานมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีองค์ประกอบเป็นศาสนสถานขอมที่เป็นโรงพยาบาลหรือ อโรคยศาล หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบไปด้วย ปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัตซึ่งอยู่เกือบจะกึ่งกลางภายในกำแพงแก้ว มีการอนุรักษ์ปรางค์ประธานโดยการยึดรั้งปรางค์ประธานด้วยเชือกลวดเหล็กกล้า(ลวดสลิง)บันไดทางขึ้นพบอัศจรรย์รูปปีกกา ส่วนซุ้มประตูและทับหลังพบว่าเป็นของใหม่ที่นำมาบูรณะเพิ่มเติมในภายหลัง และไม่พบแท่นประดิษฐานรูปเคารพภายในปรางค์ประธาน ด้านหน้าของปรางค์ประธานเยื้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียกว่าบรรณาลัย โดยประตูทางเข้าของ บรรณาลัยอยู่ทางด้านทิศตะวันตก พบแท่นประดิษฐานรูปเคารพทำด้วยศิลาทรายแดงอยู่ภายในอาคาร มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ซึ่งบางส่วนของกำแพงแก้วพังทลายและทรุดลงเอนเข้าด้านใน มีโคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกเชื่อมระหว่างกำแพงแก้ว โดยโคปุระแบ่งห้องเล็กๆออกเป็น ๒ ห้อง พบแท่นประดิษฐานรูปเคารพภายในห้องทางด้านฝั่งทิศเหนือสันนิษฐานว่าถูกเคลื่อนย้ายมาจากปรางค์ประธานและพบว่ามีการนำของเซ่นไหว้วางไว้บนแท่นรูปเคารพ ภายนอกกำแพงแก้วทางด้านมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือพบบาราย(สระน้ำโบราณ) ที่กรุด้วยศิลาแลง ซึ่งผ่านการบูรณะและขุดแต่งแล้ว แต่สภาพถูกทิ้งร้างไม่ได้รับการดูแล มีตะไคร่น้ำและวัชพืชปกคลุมน้ำในสระ มีหญ้าขึ้นรกบริเวณขอบสระจนไม่สามารถมองเห็นแนวของศิลาแลงที่ขุดแต่งได้ชัดเจน รวมถึงมีการสร้างอาคารเรียนติดกับบาราย ถัดไปทางทิศตะวันออกเป็นสระน้ำอีกสระหนึ่งมีสภาพถูกทิ้งร้างและไม่มีน้ำอยู่ภายใน พบว่ามีการขุดสระเพิ่มเติม แต่ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์แต่อย่างใด รวมทั้งมีต้นไม้ใหญ่และหญ้ารกภายในบริเวณสระน้ำ ทางด้านฝั่งทิศใต้ของปรางค์มีการจัดพื้นที่ไว้สำหรับวางกองหินที่เหลือจากการบูรณะ ปรากฏโบราณวัตถุที่สำคัญหลายชิ้น ประกอบด้วย บราลี (ส่วนประดับหลังคา) และแท่นวางรูปเคารพที่วางเรียงกัน ๓ชิ้น ถัดมาทางฝั่งด้านทิศตะวันตกของปรางค์พบ เสาติดกับผนังที่แกะสลักลวดลายที่ถูกเคลื่อนย้ายมาจากปรางค์ประธาน และพบซุ้มดอกบัวกลุ่มซึ่งเป็นยอดของปรางค์ประธาน ปัจจุบันปรางค์ครบุรีเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียน แต่เนื่องจากไม่ค่อยได้รับการดูแลรักษามากนักและไม่มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชุมชน พบเพียงแต่การนำของมาบูชาเซ่นไหว้เกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องโชคลางเท่านั้น
โบราณสถานปรางค์ครบุรี ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนบ้านครบุรีนครธรรมโฆษิตวิทยาคารบ้านครบุรีใต้ ตำบลครบุรีอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมามีการบูรณะโดยสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา กรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ปรางค์ครบุรีเป็นศาสนสถานที่เรียกว่า “อโรคยศาล” หรือโรงพยาบาล หนึ่งในจำนวน ๑๐๒ แห่ง ที่สร้างขึ้นทั่วราชอาณาจักร ตามพระราชโองการของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งอาณาจักรกัมพูชา โบราณสถานเกือบทั้งหมดก่อสร้างด้วยศิลาแลงมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบไปด้วย ปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัตซึ่งอยู่เกือบจะกึ่งกลางภายในกำแพงแก้ว ด้านหน้าของปรางค์ประธานเยื้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียกว่าบรรณาลัย โดยประตูทางเข้าของบรรณาลัยอยู่ทางด้านทิศตะวันตก มีกำแพงแก้วล้อมรอบโดยมีโคปุระหรือซุ้มประตูตรงทางเข้าด้านทิศตะวันออก นอกกำแพงแก้วทางด้านมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีบาราย(สระน้ำโบราณ) ที่กรุด้วยศิลาแลง ถัดไปทางทิศตะวันออกเป็นสระน้ำอีกสระหนึ่งมีสภาพถูกทิ้งร้างปัจจุบันปรางค์ครบุรีมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ยกเว้นกำแพงแก้วซึ่งมีการทรุดตัวเป็นผลจากการเกิดอุทกภัยทำให้ศิลาแลงพังทลายลงบางส่วน มีการถางหญ้าภายในบริเวณโบราณสถานโดยกรมศิลปากร ในส่วนของบารายไม่มีการดูแลรักษา มีวัชพืชขึ้นรกปกคลุมบริเวณโดยรอบของบารายจนทำให้ไม่เห็นแนวเดิมที่เคยมีการขุดแต่ง และในปัจจุบันปรางค์ครบุรีไม่ได้จัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เป็นเพียงแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียน และไม่ได้รับการสนับสนุนหรือดูแลรักษาจากทางโรงเรียนและชุมชน ไม่มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พบเพียงการนำของมาบูชาเซ่นไหว้เกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องโชคลางเท่านั้น
Previous     35   36   37   38   39       Next

ร่วมอนุรักษ์

" แหล่งศิลปกรรมท้องถิ่น "

ฐานข้อมูลแหล่งศิลปกรรม จังหวัดนครราชสีมา (นครชัยบุรินทร์)
โดย สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

สนับสนุนงบประมาณการศึกษาค้นคว้าโดย

หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา
สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม